Tuesday, February 2, 2016

เผยแผ่เรื่องกาแฟอินทรีย์ กาแฟโรบัสต้า ระนอง

เผยแผ่เรื่องกาแฟอินทรีย์ กาแฟโรบัสต้า ระนอง

ชาวสวนกาแฟระนองหวังพลิกภาพโรบัสต้าจากผู้ร้ายให้เป็นพระเอก
จังหวัดระนองนับว่าเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้ามากเป็นอันดับที่ 2 รองจากจังหวัดชุมพร จากข้อมูลของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดระนองพบว่า มีพื้นที่ปลูกกาแฟรวมกว่า 55,000 ไร่ ให้ผลผลิตปีละกว่า 5,300 ตัน โดยอำเภอกระบุรีเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกกาแฟมากที่สุดในจังหวัดระนอง แต่เนื่องจากหลายปีย้อนหลังที่ผ่านมาเกษตรกรหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นเพิ่มมากขึ้น เช่น ยางพาราและปาล์มน้ำมัน อีกทั้งการทำสวนกาแฟมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้พื้นที่และผลผลิตกาแฟมีจำนวนลดลง และที่สำคัญค่านิยมหรือรสนิยมของคนดื่มกาแฟจะมองว่าโรบัสต้าเป็นกาแฟไม่มีคุณภาพ เป็นกาแฟสำหรับป้อนตลาดทั่วไป จึงเปรียบเสมือนกาแฟโรบัสต้าเป็นเพียงผู้ร้ายที่ไม่สามารถมีค่าตัวเทียบได้เท่าพระเอก
ที่ไร่กาแฟ “สวนสดชื่น” ของ มิ่งขวัญ จันดาเพ็ง หรือ “จุ๋ย” ศิลปินหนุ่มชาวสวนกาแฟวัย ซึ่งอยู่ที่หมู่ที่ 8 ต.ลำเลียง อ.กระบุรี จ.ระนอง ซึ่งสภาพภูมิประเทศโอบล้อมด้วยหุบเขา มีอากาศที่ดีและสดชื่น มีการปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้าอยู่ตามพื้นที่เชิงเขา ได้ศึกษาและเรียนรู้กระบวนการผลิตกาแฟคุณภาพ เพื่อยกระดับกาแฟโรบัสต้าให้เป็นกาแฟคุณภาพ อีกทั้งยกระดับราคาเพื่อหนีราคาตลาดทั่วไปขึ้นสู่ตลาดกาแฟเกรดพรีเมียมหรือกาแฟชั้นดี ให้สมกับการลงแรงลงทุนในการผลิต

เผยแผ่เรื่องกาแฟอินทรีย์ กาแฟโรบัสต้า ระนอง
เผยแผ่เรื่องกาแฟอินทรีย์ กาแฟโรบัสต้า ระนอง

จุ๋ยบอกว่า “ปัจจุบันพี่น้องเกษตรกรชาวสวนกาแฟส่วนใหญ่ จะปลูกและผลิตเมล็ดกาแฟเพื่อส่งให้กับผู้ผลิตกาแฟกึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ของประเทศ โดยต้องรอในแต่ละปีว่าเขาจะกำหนดราคารับซื้อกิโลกรัมละเท่าไหร่ ซึ่งกาแฟที่ป้อนตลาดตรงนี้จะเป็นกาแฟคละเกรด คือการเก็บเกี่ยวจะไม่มีการคัดเลือกเมล็ด จะเก็บมาทั้งหมดทั้งเมล็ดเขียว แดง หรือดำ แล้วการนำมาตากก็วางติดกับพื้นดิน ซึ่งจะมีกลิ่นดินติดเข้าไปกับเมล็ดกาแฟ รวมถึงในหลาย ๆ ครั้งเมล็ดกาแฟจะขึ้นราเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนชื้นของจังหวัดระนอง ดังนั้นผลผลิตเมล็ดกาแฟของพี่น้องชาวสวนกาแฟที่นี่จึงกลายกาแฟเกรดรองที่ถูกกดราคาโดยพ่อค้าคนกลางมาโดยตลอด
จุ๋ยบอกอีกว่า “ผมได้พยายามเรียนรู้และหากระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟคุณภาพ ซึ่งจากการศึกษาก็พบว่าที่จังหวัดระนองมีกระบวนการผลิต 2 แบบคือ แบบแห้งที่ชาวสวนกาแฟส่วนใหญ่ทำกัน และอีกแบบคือแบบเปียก ซึ่งที่สวนสดชื่นผมเลือกใช้แบบหลัง เพราะเห็นว่าจังหวัดระนองเป็นพื้นที่ที่มีฝนตกชุก มีความชื้นสูงกระบวนการผลิตแบบเปียกจึงเหมาะสมกว่า และผมเลือกที่จะปลูกกาแฟแบบเกษตรอินทรีย์เพื่อหาความต่างของตลาด รวมถึงพยายามชักจูงเพื่อนพี่น้องในละแวกใกล้เคียงให้ลองปรับมาผลิตกาแฟคุณภาพ ซึ่งมีคนมาร่วมไม่มากนักและหลาย ๆ คนก็บอกว่าผมบ้า จะทำให้มันยากทำไม ที่ทำ ๆ กันอยู่กับราคาที่ได้รับก็พอใจกันแล้ว แต่ผมก็ยังคงตั้งหน้าตั้งตาทำกาแฟคุณภาพต่อไป”
จุ๋ยเล่าให้ฟังอีกว่า “ผมกลับมาที่สวนสดชื่น สานต่อการทำสวนกาแฟจากครอบครัว และตั้งเป้าผลิตกาแฟคุณภาพให้ได้ ด้วยการคัดเฉพาะเมล็ดสุกแดง ผ่านกระบวนการแช่น้ำแล้วคัดเมล็ดที่ลอยออก หลังจากนั้นก็ผ่านกระบวนการหมักน้ำ สีเปลือก แล้วตากแดดด้วยการยกแคร่ให้สูงจากพื้นดิน เพื่อป้องกันกลิ่นแปลกปลอมเข้าสู่เมล็ดกาแฟ ซึ่งในขณะนี้ผ่านมาแล้วเป็นปีที่ 3 ผลผลิตเมล็ดกาแฟของผมถูกสั่งจองข้ามปีจากโรงคั่วกาแฟทั้งหมด ในราคาที่สูงกว่าเมล็ดกาแฟทั่วไปมากกว่า 2 เท่า อีกส่วนหนึ่งเราก็เก็บไว้ผลิตเป็นกาแฟแบรนด์ “สวนสดชื่น” ของเราเอง รวมถึงผมกำลังคิดที่จะผลิตเมล็ดกาแฟที่เรียกว่า “กาแฟโรบัสต้ามหาเทพ” ซึ่งอาจจะผลิตได้เพียงไม่กี่สิบกิโลกรัมเท่านั้นด้วย”
“ผมคาดหวังว่าสักวันหนึ่งกาแฟโรบัสต้าจะต้องได้รับการยอมรับมากขึ้น คนดื่มกาแฟจะมีความเข้าใจที่ดีต่อโรบัสต้ามากขึ้น โรงคั่วที่ยังไม่มีความเข้าใจในโรบัสต้ามากพอก็จะเข้าใจมากขึ้น ส่วนโรงคั่วที่ใช้กาแฟที่ดีอยู่ก็จะเพิ่มปริมาณการสั่งโรบัสต้าคุณภาพที่มากขึ้น อีกทั้งระนองมีสภาพภูมิอากาศที่ดี มีพื้นดินที่ดี และมีกาแฟโรบัสต้าที่ดี และเชื่อมั่นว่าระนองเป็นแหล่งผลิตกาแฟโรบัสต้าที่ดีกว่าในละแวกใกล้เคียง ซึ่งหากเราไม่สามารถผลิตกาแฟโรบัสต้าคุณภาพได้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียใจเป็นอย่างมาก ซึ่งถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาเรื่องกาแฟคุณภาพ และเข้ามาหนุนเสริมให้จริงจัง ทำให้โลกได้รู้ว่าโรบัสต้าที่ดีมีอยู่ที่ระนองทั้งหมด” จุ๋ยกล่าวปิดท้าย
ทางด้านสุพจน์ กรประสิทธิ์วัฒน์ หรือที่รู้จักกันในนาม “ก้องกาแฟ” ผู้ที่เรียกตัวเองว่า “เกษตรอินดี้” ได้บอกให้เราเข้าใจว่า “กว่า 30 ปีที่บรรพบุรุษของเราบุกเบิกการปลูกกาแฟโรบัสบัสต้า บนพื้นที่ที่มีอากาศและดินที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เราชาวสวนกาแฟเกือบทุกคนก็ยังคงซื้อกาแฟทั้งกึ่งสำเร็จรูป หรือกาแฟทรีอินวันมาดื่มกันอยู่ ซึ่งเมื่อเทียบปริมาณกาแฟในซองกับราคาแล้วเราพบว่ามันมีราคาสูงมาก ถ้าเทียบเป็นกิโลกรัมมันมีราคาถึง 2 พันบาท ในขณะที่ชาวสวนกาแฟขายส่งกาแฟให้ผู้ผลิตในราคากิโลกรัมละไม่ถึง 100 บาท อีกทั้งมีผู้พยายามใส่ร้ายว่ากาแฟโรบัสต้าเป็นกาแฟไม่มีคุณภาพ มีรสชาติที่เปรี้ยว สู้กาแฟอาราบิก้าจากภาคเหนือไม่ได้นั้น ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่เป็นความจริง เพราะการที่จะได้กาแฟคุณภาพและรสชาติที่ดีนั้น ต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการตั้งแต่การเก็บเมล็ดกาแฟที่สุกเป็นสีแดงเชอรี่ ไปจนถึงการคั่วบดและชง ซึ่งคุณจะเข้าใจเมื่อได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง”
ก้องยังบอกอีกว่า “ปัจจุบันผมพยายามรวบรวมกลุ่มผู้ที่มีความคิดเดียวกันมาเป็น “หุ้นส่วนทางความคิด” ในการปลูกและผลิตเมล็ดกาแฟคุณภาพ โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็ได้พิสูจน์ให้เพื่อนชาวสวนกาแฟ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐได้เห็นแล้วว่า การผลิตกาแฟโรบัสต้าคุณภาพนั้นทำได้ ถึงแม้ผลผลิตกาแฟคุณภาพจะยังออกมาไม่มากก็ตาม ผมก็ยังไม่ท้อถอยที่จะชักชวนเพื่อร่วมหุ้นมาร่วมกันกำหนดราคาของเราเอง ที่เรียกว่า “ตลาดเรา” ที่มีราคาสูงกว่าปกติถึงเท่าตัว ส่วนเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพรองลงไปเราก็ส่งขายตลาดทั่วไปที่พ่อค้าคนกลางเขากำหนดราคาโดยเรียกว่า “ตลาดโลก” โดยเริ่มต้นก็ชักชวนด้วยการให้หันมาลองผลิตกาแฟคุณภาพประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์จากการปลูกทั้งหมดดูก่อน แล้วจึงค่อยขยับขยายเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และเชื่อว่าตลาดกาแฟโรบัสต้าคุณภาพนั้นยังเปิดกว้างและรองรับได้อีกมาก”


Advertisment


สิริชัย สาครวิศว หรือ “โซ่” ซึ่งเป็น R-Grader หรือผู้กำหนดคุณภาพกาแฟโรบัสต้า บอกว่า “ปัจจุบันกาแฟพันธุ์อาราบิก้าที่ปลูกที่ภาคเหนือนั้นราคาพุ่งขึ้นไปสูงมาก ในขณะที่มีผลผลิตที่ไม่มากนัก จนหลาย ๆ คนเริ่มหันมาสนใจว่าทำไมไม่เอาโรบัสต้ามาใช้บ้าง อาจจะด้วยความเข้าใจที่ยังน้อยและเข้าใจผิดคิดว่าโรบัสต้าเป็นกาแฟที่ไม่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีกาแฟโรบัสต้าที่ดีอยู่ ซึ่งสามารถนำมาใช้ทดแทนหรือใช้ร่วมกับอาราบิก้าที่ดีได้ ซึ่งอาราบิกาจะได้ความเปรี้ยวและกลิ่นที่ดี แต่ในเรื่องของบอดี้ ความหนักแน่น หรือความสมูทนั้นอาราบิก้ามีน้อย แต่สามารถหาได้ทั่วไปในโรบัสต้า”
โซ่บอกอีกว่า “ผมเคยลงไปที่จังหวัดระนอง ได้ชิมกาแฟทั้งของสวนสดชื่น และที่ก้องกาแฟ ก็พบได้ว่าทั้งสองแห่งนี้มีการผลิตกาแฟคุณภาพที่แตกต่างจากโรบัสต้าทั่วไปและน่าสนใจมาก ซึ่งเกษตรกรทั่วไปอาจจะเริ่มต้นทำกาแฟคุณภาพโดยวิธีง่าย ๆ ก่อน ด้วยการเลือกเฉพาะผลสุกแดง การตากไม่ให้ติดพื้นดิน แล้วหลังจากผ่านกระบวนการมาแล้ว เราก็จะพบว่ามันให้รสชาติที่แตกต่างกัน เมื่อเราทำกาแฟดีแล้วทุกอย่างมันจะยกระดับขึ้นมาเอง ซึ่งปัจจุบันนี้อยากจะบอกว่าใคร ๆ ก็ตามหาโรบัสต้าดี ๆ เพราะมันมีความจำเป็นต้องใช้ เช่นการทำกาแฟเย็น โรบัสต้าจะสามารถสู้กับนมได้ดีกว่า อีกทั้งตลาดและการบริโภคในปัจจุบันขยายตัวมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากร้านกาแฟสดที่เปิดมากขึ้นในทุกแห่ง ซึ่งร้านกาแฟพวกนี้ต้องใช้กาแฟคุณภาพมาเป็นวัตถุดิบ ไม่สามารถนำเมล็ดกาแฟแบบคละเกรดมาใช้ได้ อีกทั้งโรงคั่วกาแฟอีกหลายแห่งก็ยังค้นหาและตามหาเมล็ดกาแฟโรบัสต้าคุณภาพอีกมากเลยทีเดียว”
“ในสภาวะที่พืชเศรษฐกิจของภาคใต้เช่นยางพารา และปาล์มน้ำมันที่ราคาตกขนาดนี้ นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่หน่วยงานภาครัฐจะหันมาให้การสนับสนุนและส่งเสริมกาแฟโรบัสต้า ซึ่งนอกเหนือจากการส่งเสริมการตลาดกับบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วไปแล้ว ควรจะหันมาศึกษาข้อมูลการผลิตเมล็ดกาแฟโรบัสต้าคุณภาพ ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนกาแฟได้มากขึ้นแล้ว ยังสามารถยกระดับและเปลี่ยนภาพลักษณ์ของโรบัสต้าจากผู้ร้ายให้เป็นพระเอกได้อีกด้วย” โซ่กล่าวปิดท้าย
ภาพ/เรื่อง – นายโอ๋ พรชัย

ที่มาของเรื่องจาก FB: นายโอ๋ พรชัย

No comments:

Post a Comment