Saturday, August 26, 2017

ผักพื้นบ้าน ผักหวานป่า แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยในการขัยถ่าย

ผักพื้นบ้าน ผักหวานป่า แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยในการขัยถ่าย


ชื่อวิทยาศาสตร์ Melientha suavis Pierre.
ชื่อวงศ์ OPILIACEAE

ผักหวานป่า เป็นผักพื้นบ้านหน้าร้อน ลักษณะเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 5-16 เมตร มียอดกรอบเปราะบางสีเขียวสดเป็นมัน มีใบหนาสีเขียวเข้มรูปรี ขอบใบเรียบปลายใบป้านกลม หรือมนมีรอยเว้า แหลมตื้นๆ หรือเป็นติ่งเล็กๆ ยื่นออกมา ดอกสีเขียวออกตรงซอกใบ ผลเป็นพวงสีเหลืองอมน้ำตาล คล้ายลูกมะไฟ การเลือกเก็บผักหวานมาทานนั้นให้ระวังเป็นพิเศษ เมื่อกินเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการเมาได้ วิธีสังเกตทำได้ง่ายโดยดูได้ที่ใบ ใบผักหวานป่านั้นจะมีสีเขียวสด ผิวใบมัน ส่วนผักหวานเมาผิวใบจะด้าน เนื้อใบเหนียว

การขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือเพาะชำราก ไม่ชอบแดดจัด จึงควรมีไม้พี่เลี้ยงเพื่อให้ร่มเงา และแสงรำไร โดยพืชที่เหมาะกับการเป็นพี่เลี้ยงคือ ต้นแค น้อยหน่า มะขามเทศ ตะขบ ผักหวานป่าเป็นผักพื้นบ้านที่ไม่ชอบน้ำมาก ชอบดินดาน

ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร ยอด ดอก และใบอ่อน ใช้แกงกับไข่มดแดง ปลาแห้ง แกงเลียง ต้มจืด หรือนำมานึ่งกับพริกป่น ผลแก่สามารถลอกเนื้อทิ้งนำเมล็ด ไปต้มรับประทาน ได้เช่นเดียวกับเมล็ดขนุน มีรสหวานมัน

สารสำคัญในผักหวานป่า

     ยอดและใบอ่อนในส่วนที่กินได้ 100 กรัม ให้พลังงาน 39 กิโลแคลอรี กากใย 2.1 กรัม โปรตีน 0.1 กรัม ไขมัน 0.6 กรัม คาร์โบไฮเดรต 8.3 กรัม ฟอสฟอรัส 68 มิลลิกรัม แคลเซียม 24 มิลลิกรัม เหล็ก 1.3 มิลลิกรัม วิตามิน บี 1 0.12 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 1.65 มิลลิกรัม ไนอาซิน 3.6 มิลลิกรัม วิตามินซี 168 มิลลิกรัม เบต้า-แคโรทีน 516.33 มิลลิกรัม
     ค่าดัชนีในความเป็นสารแอนติออกซิแดนท์ ของผักหวานป่าสดอยู่ที่ 3.301 เมื่อแห้งอยู่ที่ 1.62 โดยมีองค์ประกอบต่างๆ ที่คำนวนจากพืชแห้ง 100 กรัม แบ่งตามกลุ่มสารแอนติออกซิแดนท์ 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ วิตามินอี 0.002 มิลลิกรัม วิตามิน ซี 12.35 มิลลิกรัม แคโรทีนอยด์ ได้แก่ เบต้า-แคโรทีน 1.28 มิลลิกรัม และแซนโทฟิลล์ 2.12 มิลลิกรัม สารประกอบฟินอลิค 25.11 มิลลิกรัม และแทนนิน 11.08 มิลลิกรัม

สรรพคุณ  เป็นทั้งอาหารและยาประจำฤดูร้อน แก้อาการของธาตุไฟ ตามแพทย์แผนไทย แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ ช่วยในการขับถ่ายให้ดีขึ้น แก่นผักหวานใช้ต้มรับประทานน้ำเป็นยาแก้ปวดตามข้อ หรือปานดง และเมื่อนำต้นผักหวานกับต้นนมสาวมาต้มทานเป็นยาเพื่อเพื่มน้ำนมแม่ หลังคลอดบุตร รากต้มดื่มใช้เป็นยาลดไข้ น้ำยายางจากใบใช้กวาดคอเด็ก แก้ลิ้นเป็นฝ้าขาว

เมนูอาหาร ผักหวานป่า แกงผักหวานใส่ไข่มดแดง



Advertisment


เครื่องปรุง

  • ผักหวานป่า 300 กรัม
  • ไข่มดแดง 1.5 ขีด
  • หอมแดงทุบ 3 หัว
  • น้ำปลา 1/2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำปลาร้า 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำ 2.5 ถ้วย
เครื่องแกง
      พริกขี้หนูแห้ง 3-4 เม็ด หอมแดงซอย 3 หัว โขลกเครื่องแกงทั้งหมดเข้าด้วยกันให้ละเอียด

วิธีทำ
  1. ล้างผักหวาน เลือกเอาแต่ใบและยอดอ่อนผักหวานป่า พักไว้ก่อน
  2. ล้งไข่มดแดงให้สะอาด ใส่กระชอนไว้
  3. ใส่น้ำในหม้อ ตั้งไฟให้เดือด ตามด้วยเครื่องแกง แล้วตามด้วยผักหวาน ตามด้วยไข่มดแดง น้ำปลาร้า และน้ำปลา ชิมรส แล้วปิดไฟ
ประโยชน์ทางอาหาร บำรุงร่างกายทำให้อวัยวะภายในร่างกายทำงานได้เป็นปกติ ช่วยในการขับถ่าย ขับเหงื่อออกจากร่างกายดีขึ้น ลดความร้อนในร่างกาย

เห็นคุณค่าผักพื้นบ้านอาหารไทย ผักหวานป่าแล้ว ทำให้นึกึ้นได้ว่า ยา อาหาร บ้านเมืองเรามีอยู่ทุกที่ โดยเฉพาะในผัก เราสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารและยาได้ โดยไม่ต้องสกัดเป็นตัวยาใดๆ เพียงเรานำผักพื้นบ้านมาปรุงเป็นอาหาร เราก็ได้ทานเป็นยาไปด้วยในตัว



ที่มา คู่มือผักพื้นบ้านอาหารต้านโรค

No comments:

Post a Comment